คุณภาพชีวิตที่ดีนั้นสามารถสร้างได้จากหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทางด้านสาธารณูปโภค การพัฒนาทางสาธารณสุข และการพัฒนาทางเทคโนโลยีต่างๆ สิ่งที่กล่าวมานี้เป็นของภายนอกที่พัฒนาและเสริมเติมแต่งได้ในภายหลัง แต่สิ่งที่มีมาตั้งแต่กำเนิดคือร่างกายนั้นไม่สามารถแต่งเติมได้ มีมาแต่เกิดอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น แน่นอนว่าลูกไม่สามารถเลือกเกิดได้ และพ่อแม่เองก็กำหนดไม่ได้ว่าจะให้ลูกเกิดมาสมบูรณ์ แต่สิ่งที่พ่อแม่สามารถทำได้คือทำทุกอย่างให้ดีที่สุดเพื่อเตรียมตัวให้ลูกน้อยที่จะเกิดมามีสุขภาพที่ดีที่สุด
ในช่วงหนึ่งมีการสนับสนุนให้คู่ที่กำลังจะแต่งงานไปรับการตรวจเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนแต่ง เรื่องนี้มีการพูดถึงอยู่พักหนึ่งแล้วก็ซาๆไป เหตุผลที่แท้จริงนั้นผมก็ไม่ทราบ แต่ว่าสิ่งที่พบเห็นเสมอในเหตุผลของการบ่ายเบี่ยงไม่ยอมไปตรวจมักจะเป็นเรื่องของความเชื่อใจ เพราะว่าหนึ่งในการตรวจก่อนการแต่งงานนั่นคือการตรวจเอดส์หรือเอชไอวีซึ่งถือเป็นเรื่องของความซื่อสัตย์แบบหนึ่ง นี่เองจึงเป็นเหตุที่ทำให้คู่แต่งงานหลายๆคู่ไม่ได้ทำการตรวจก่อนการแต่ง
จริงอยู่ที่เรื่องเอชไอวีเป็นหนึ่งในการตรวจก่อนการแต่ง แต่ว่าไม่ใช่ทั้งหมดครับ .... เนื่องจากเรื่องนี้ทำให้หลายๆคู่พลาดการตรวจที่สำคัญไป และต้องมากลุ้มใจกันภายหลังเมื่อกำลังจะมีลูก ดังนั้นผมจึงนำความรู้เล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับการตรวจก่อนการแต่งงานมานำเสนอให้ดูกัน
ตรวจไปเพื่ออะไร
จุดประสงค์ในการตรวจที่สำคัญในทางวิชาการนั้นคือลดจำนวนผู้ที่จะป่วยเป็นโรคชนิดต่างๆ โดยมุ่งหมายไปที่โรคที่สามารถติดต่อกันระหว่างชายหญิง โรคที่สามารถติดต่อไปยังลูก และอีกสองอย่างคือ "โรคที่ไม่ปรากฎในพ่อแม่แต่มาเกิดในลูก" กับ "สภาพร่างกายของแม่ก่อนการตั้งครรภ์" เคยมีเหมือนกันที่ถามมาประมาณว่าอยู่ด้วยกันก่อนแต่งมาระยะหนึ่งแล้ว ตอนนี้ยังจำเป็นจะต้องตรวจหรือไม่ ... ซึ่งความจริงเป็น ดังนั้นการตรวจจึงไม่ได้มีเพียงการตรวจโรคทางเพศสัมพันธ์เพียงอย่างเดียวหากแต่มีการตรวจอีกหลายด้านหลายทิศทาง
การตรวจตรวจอะไร
การตรวจมีหลายขั้นตอนขึ้นอยู่กับแต่ละโรงพยาบาล แต่ว่าหลักใหญ่ก็มีอย่างที่กล่าวมาแล้ว ในรายละเอียดของการตรวจนั้นก็มีดังจะกล่าวนี้
- ตรวจเรื่องทางเพศสัมพันธ์
โรคที่ติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์นั้นมีสองโรคหลักสำคัญคือ โรคเอดส์ กามโรคและตับอักเสบบี
ตับอักเสบบีเป็นโรคที่มีการติดต่อหลักทางเพศสัมพันธ์และสามารถติดต่อได้ง่ายกว่าเอดส์หลายเท่า ผลเสียของโรคตับอักเสบบีนั้นมีทั้งต่อตัวคู่สมรส และเด็กที่จะคลอดออกมา เนื่องจากผู้ใหญ่ที่ติดโรคนี้มีความเสี่ยงที่จะมีการดำเนินโรคไปเป็นโรคตับอักเสบ ตับแข็งและมะเร็งตับ .... โดยเฉพาะเด็กทารกที่กำลังจะเกิดขึ้นมา หากติดเชื้อก็ยิ่งมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อนี้และการเป็นมะเร็งตับได้ตั้งแต่อายุน้อยๆ ... ส่วนถ้าหากคู่สมรสเป็นตับอักเสบบี อีกฝ่ายก็สามารถฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อได้ก่อนการแต่งงาน และต้องรอให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันเสียก่อน จึงจะมีเพศสัมพันธ์ได้โดยที่ไม่ต้องใช้ถุงยาง
เอดส์ เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่อันตรายอย่างที่เราก็รู้กัน แม้ว่าบางครั้งจะไม่ได้ติดต่อไปถึงลูก แต่ก็ส่งผลให้เด็กกำพร้าและมีปมด้อยได้ในอนาคต
กามโรค แม้ว่าในปัจจุบันเรื่องกามโรคจะลดความเข้มข้นไปเพราะการแพร่กระจายของโรคเอดส์ แต่ก็ยังนับว่ามีความสำคัญเนื่องจากโรคกามโรคหลายโรคนั้นเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายของทารกหรือความพิการแต่กำเนิดของเด็กทารก
สิ่งหนึ่งที่ต้องระมัดระวังไว้ก็มี เพราะโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ถือเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนในความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่าย สิ่งที่ควรทำคือต้องตกลงกันให้ดีและทำความเข้าใจกันให้ได้ก่อนการตรวจ ซึ่งในชั้นนี้ก็ต้องทำการแนะนำ
- ตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อโรคที่มีผลต่อเด็ก
โรคที่ต้องระมัดระวังก็มีที่สำคัญคือ
หัดเยอรมัน ซึ่งหากมารดาไม่มีภูมิคุ้มกันและเกิดติดเชื้อในช่วงต้นของการตั้งครรภ์ ก็มีความเสี่ยงสูงมากที่จะมีทารกออกมาพิการ ซึ่งเป็นความพิการในระบบต่างๆหลายระบบมากทั้งการได้ยิน มองเห็น และระบบหัวใจ ... ดังนั้นถ้ามารดาไม่เคยฉีดวัคซีนโรคหัดเยอรมันเลย ก็ควรไปตรวจภูมิคุ้มกันของโรคนี้( บางคนไม่เคยฉีดแต่ว่าติดมาตอนเด็กๆโดยไม่รู้ตัวจะได้ไม่ต้องฉีดซ้ำ) หากไม่มีภูมิก็จะได้ฉีดไปเลย
อีสุกอีใส แม้ว่าจะมีอันตรายต่อทารกน้อยกว่าหัดเยอรมัน แต่ว่าเนื่องจากเป็นโรคที่มีวัคซีนและปัจจุบันมีคนที่ไม่เคยเป็นอีสุกอีใสตอนเด็กเพิ่มขึ้น ดังนั้นถ้าเป็นไปได้อาจจะตรวจภูมิคุ้มกันในรายที่ไม่แน่ใจ ซึ่งถ้าไม่มีก็จะได้ฉีดวัคซีนไปเลย
ข้อควรรู้ก่อนการได้รับวัคซีนเหล่านี้คือ วัคซีนเหล่านี้สร้างจากเชื้อที่ยังไม่ตาย ... แม้ว่าในทางปฏิบัติจะไม่พบว่ามีผลต่อเด็กทารก แต่ว่าในทางทฤษฎีนั้นมันมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลต่อทารกในท้องได้
ดังนั้นหากคุณไปตรวจแล้วไม่มีภูมิก็ต้องทำดังนี้
1 ตรวจหาว่ามีการตั้งครรภ์แล้วหรือไม่ (ในรายที่มีอะไรกันก่อนแต่งหรือก่อนตรวจ)
2 ฉีดวัคซีน
3 รอให้พ้นกำหนด เข้าระยะปลอดภัยแล้วจึงจะหยุดการคุมกำเนิดและเตรียมมีลูกได้ โดยทั่วๆไปคือสามเดือนหลังการฉีดเข็มสุดท้าย
เข้าใจแล้วใช่ไหมครับ ว่าทำไมเราต้องวางแผนการตรวจก่อนแต่ง.... ก็เพราะเรื่องการฉีดวัคซีน ต้องวางแผนล่วงหน้า โดยทั่วๆไปก็จะต้องฉีดก่อนการแต่งหรือวางแผนมีลูกนานถึงสามเดือน
-ตรวจร่างกายมารดา
โรคประจำตัวบางอย่างมีผลต่อการตั้งครรภ์ อย่างเช่นโรคหัวใจ โรคหอบหืด ความดันสูง เบาหวาน ไทรอยด์เป็นพิษ
โรคเหล่านี้อาจหลบซ่อนอยู่โดยที่ฝ่ายหญิงไม่ทราบมาก่อน ดังนั้นก็ควรตรวจร่างกายและซักประวัติก่อน .... เพื่อที่ว่าหากพบโรคที่ส่งผลต่อการตั้งครรภ์ จะได้วางแผนการตั้งครรภ์ให้ดีต่อไป
ในทางกลับกัน หากตั้งครรภ์โดยไม่รู้หรือไม่ได้วางแผน อาจจะส่งผลที่เป็นอันตรายต่อทั้งชีวิตของแม่และลูกในท้องได้
-ตรวจหมู่เลือด
ที่สำคัญคือการตรวจหมู่เลือดว่าเป็นABO และเป็นหมู่Rhใด เนื่องจากมีผลต่อการตั้งครรภ์และภายหลังคลอด
- ธาลัสซีเมีย
โรคนี้เป็นโรคเลือดที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม เป็นโรคที่ทำให้เกิดภาวะโลหิตจางแบบต่างๆขึ้นและพบบ่อยในคนไทย ... เนื่องจากเป็นโรคทางพันธุกรรมก็ทำให้บางครั้งไม่ปรากฎอาการในพ่อแม่แต่มาพบในลูกได้
ความสำคัญของธาลัสซีเมียอยู่ที่ ธาลัสซีเมียบางกลุ่ม จะก่ออันตรายต่อแม่และลูก บางกลุ่มทำให้เมื่อลูกเกิดออกมาแล้วมีภาวะซีดรุนแรงจนต้องให้เลือดบ่อยๆและมีช่วงชีวิตที่สั้น(และทรมาน) ซึ่งในกลุ่มเหล่านี้บางครั้งเมื่อพบว่าพ่อแม่มีความเสี่ยงสูง หากแม่มีการตั้งครรภ์ก็จะทำการตรวจว่าลูกเป็นหรือไม่... ถ้าลูกในท้องเป็นชนิดที่รุนแรงมาก ก็อาจจะพิจารณาทำแท้งเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อมารดาและเพื่อเด็กที่จะได้ไม่ต้องเกิดมาใช้ชีวิตอย่างทรมาน
การตรวจธาลัสซีเมียในปัจจุบันมีการตรวจเลือดคัดกรองด้วยวิธี DCIP และ OF ... เมื่อตรวจคัดกรองแล้วสงสัยก็จะทำการตรวจHemoglobin Typingครับ ในปัจจุบัน การตรวจสามารถทำได้ทั่วประเทศ และมีความแม่นยำสูงพอใช้ (ยกเว้นธาลัสซีเมียบางชนิดที่มีอาการค่อนข้างมากแต่ผลเลือดอาจจะแปลผลได้ปกติ ซึ่งเป็นเพียงส่วนน้อย) ปัจจุบันเราจะตรวจคัดกรองในหญิงตั้งครรภ์ทุกราย แต่ในรายที่มีเงินปัจจัยพอ การรู้ล่วงหน้าก็ย่อมทำให้เตรียมตัวได้ดีกว่าครับ
- ซักประวัติเรื่องโรคทางพันธุกรรม
โรคทางพันธุกรรมบางชนิดเป็นโรคที่ต้องไต่ถามกันตั้งแต่ก่อนแต่ง เพราะหากพบว่ามีความเสี่ยงจะได้เตรียมตัวถูก
อย่างเช่นในกรณีที่ซักไปซักมา ทางพ่อมีประวัติว่ามีคุณอาคนนึงเป็นเลือดออกไม่หยุดและเสียไปแล้วเมื่อ10ปีก่อน ทางฝ่ายหญิงซักได้ว่ามีพี่ชายและน้องชายเสียไปแต่เด็กทั้งสองคนจากเลือดออกไม่หยุด .... ประวัติแจ๊คพ็อตแบบนี้ต้องการการเตรียมตัวก่อนการตั้งครรภ์ที่ละเอียดถี่ถ้วน
กรณีที่พบได้ก็อย่างเช่นพวกโรคฮีโมฟีเลีย(เลือดออกไม่หยุด) กรณีอื่นๆก็ต้องดูเป็นกรณีๆไปครับ
หากพบว่ามีความเสี่ยง แพทย์ก็จะนัดมาตรวจตั้งแต่ตั้งครรภ์ได้อ่อนๆ เพื่อจะได้วางแผนการจัดการตั้งแต่อายุครภ์น้อยๆ
- เตรียมตัวบำรุง
เดี๋ยวนี้มีโฆษณานมเสริมโฟเลต ที่กินเพื่อป้องกันทารกไม่ให้เป็นโรคNeural tube defect (ปลายไขสันหลังไม่ยอมปิด) และบำรุงสมองทารก....
แต่ในต่างประเทศและในวงการแพทย์ ส่วนใหญ่เราจะให้ผู้ที่ตั้งใจว่าจะมีลูก กินบำรุงไว้ก่อนตั้งแต่ไม่ท้อง เพราะว่ามารดาจะรู้ว่าท้อง บางครั้งก็อายุครรภ์ปาไป1-2เดือนแล้ว ซึ่งNeural tube จะปิดตัวก็ช่วง12สัปดาห์หรือเดือนที่สาม ซึ่งการมากินบำรุงทีหลังนั้นก็อาจจะเป็นการบำรุงที่ช้าเกินไป
อาจารย์กุมารแพทย์ท่านหนึ่งแนะนำ(ในชั้นเรียน)ให้กินคะน้าทอดกรอบล่วงหน้าก่อนการจะตั้งครรภ์ เนื่องจากคะน้าเป็นผักที่อุดมไปด้วยแคลเซี่ยมและโฟเลต ซึ่งล้วนแต่ส่งผลดีต่อการตั้งครรภ์ ข้อสำคัญคือหาง่ายอร่อยช่วยระบาย ที่สำคัญ ราคาถูก
จะเห็นได้ว่าการตรวจก่อนการแต่ง ไม่ได้มีเพียงแต่การตรวจเอดส์อย่างที่ใครๆหลายคนเข้าใจ และคนที่มีอะไรกันมาแล้วแต่ยังไม่ได้จะมีลูกก็ยังได้ประโยชน์จากการตรวจนี้ ดังนั้นถ้าหากไม่ได้ลำบากอะไรนัก ก่อนจะแต่งงานมีลูก ลองไปตรวจดูก็ดีครับ
No comments:
Post a Comment