การอ่าน = การเปิดโลกทัศน์ : ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม
การถูกจองจำกลับเปิดโอกาสให้คิมแดจุงเปิดหูเปิดตาความคิดความอ่านมากมาย
มน & นิ ลูกรัก
มีคนพูดหรือเขียนไว้มากมายแล้วว่า การอ่านมีประโยชน์อย่างไร พ่อจะขอเสริมด้วยตัวอย่างสักนิดหน่อย
- ผู้นำเกาหลีใต้ คิมแดจุง เคยถูกจองจำช่วงหนึ่ง แต่ช่วงเวลานั้นเองกลับกลายเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตของเขา
"ระหว่างถูกจองจำ สิ่งที่คิมแดจุงได้ประโยชน์ที่สุดก็คือ การอ่านหนังสือ การถูกจองจำกลับเปิดโอกาสให้ผมเปิดหูเปิดตาความคิดความอ่านมากมาย"
ที่มา : สันติ ตั้งรพีพากร "อะเมซิ่ง คิมแดจุง", สำนักพิมพ์มติชน, กรุงเทพ, 2543, หน้า 145
เรื่องนี้ทำให้พ่อคิดถึง สอ เสถบุตร ผู้เขียนพจนานุกรมไทย-อังกฤษ/อังกฤษ-ไทย ในขณะที่อยุ่เรือนจำที่เกาะตะรุเตา...เอาไว้จะเล่าให้ฟังทีหลัง
- คุณ ส. พลายน้อย ยอดนักเขียนคนสำคัญของไทย ได้เล่าไว้ในหนังสือ 'ชีวิตที่คิดไม่ถึง' ว่า เมื่อออกจากราชการแล้ว มีผูจัดทำนิตยสารสองสามฉบับไปขอสัมภาษณ์ที่บ้าน ด้วยความสนใจอยากรู้ว่าเป็นคนแก่ปูนไหน จึงเขียนหนังสือได้มากมาย และเมื่อได้รู้ว่าจบการศึกษาไม่สูงนัก เพียงแค่มัธยม 6 (ในสมัยก่อน) ก็สงสัยว่าได้ความรู้มาจากไหน ซึ่งคุณ ส. พลายน้อย ได้ตอบไปว่า "ได้มาจากหนังสือ"
ยังมีอีกจุดหนึ่งที่น่าคิดก็คือ คุณ ส. พลายน้อย เขียนไว้ว่า "มีคนเคยถามผมว่าออกจากราชการแล้วเหงาไหม ผมก็ตอบเขาว่า ตลอดชีวิตที่ผ่านมาไม่เคยเหงา ผมมีเพื่อนเป็นหมื่นๆ ในบ้าน อยากจะคุยกับใครก็หยิบเอาออกมาอ่าน อยากรู้ประวัติของใครก็อ่านหนังสือประเภทชีวประวัติ อยากรู้เรื่องของพระสงฆ์ก็อ่านพระไตรปิฎก อยากรู้อดีตก็อ่านพงศาวดาร ฉะนั้นคำว่าเหงาจึงไม่มีในความรู้สึก"
(พ่อก็มีเพื่อนอยู่ในบ้านเยอะเหมือนกัน แต่คงแค่หลักพัน)
- พ่อเองได้ "รู้จัก" ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎกเป็นครั้งแรกจากการอ่านหนังสือ พุทธธรรมกับชีวิตในสังคมเทคโนโลยี ในระหว่างอยู่บ้านเพราะป่วย (เป็นไวรัสตับอักเสบเอ)
คำหลัก: บทเรียนชีวิต การอ่าน
โดย ดร. บัญชา ธนบุญสมบัติ บล็อก (สมุด) เขียนไว้..ให้ลูกอ่าน
ลิงค์ที่อยู่ถาวร ข้อคิดเห็น (2) สร้าง: ศ. 02 ก.พ. 2550 @ 09:08 แก้ไข: พฤ. 22 ก.พ. 2550 @ 23:04
No comments:
Post a Comment