โลกทั้งผอง...ล้วนพี่น้องกัน
มน & นิ ลูกรัก
วันนี้พ่ออยากชวนคุยเรื่องแปลกๆ สักเรื่องหนึ่ง ที่อาจทำให้หนูทั้งสองคนเห็นมุมมองที่ลึกและกว้างขึ้นไปพร้อมๆ กัน
หนูเคยสังเกตเห็นไหมว่า คำศัพท์ภาษาอังกฤษที่ครูสอนในชั้นนั้น บางคำช่างดูเหมือนคำไทยซะนี่กระไร อย่างเช่น
cow (วัว) = โค
brother (พี่ชาย หรือน้องชาย) = ภราดร (ไทย) = bhratar (สันสกฤต)
มองกลับกัน หากเริ่มจากภาษาอังกฤษก่อน...
burgh (เช่น เมือง Edinburgh) = บุรี (แปลว่า เมือง)
two (สอง) = ทวิ (สอง)
ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะทั้งคำศัพท์ในภาษาไทย (บางคำ) เกี่ยวดองเป็นญาติห่างๆ กับคำศัพท์ (บางคำ) ในภาษาอังกฤษ
อีกตัวอย่างหนึ่งที่พ่อชอบมากที่สุด ก็คือ ทำไมคำว่า linguistics จึงแปลว่า ภาษาศาสตร์ หรือ bilingual จึงหมายถึง พูดคล่องสองภาษา
คำตอบคือ คำว่า 'lin' ที่ซ่อนอยู่ในคำว่า linguistics และ bilingual ก็คือ ลิ้น (ใช้พูด) นั่นเอง
ถ้าหนูอยากเข้าใจเรื่องนี้ ก็ต้องลองศึกษาประวัติของ ภาษาอินโด-ยูโรเปียน (Indo-European Language) สักหน่อย
คำว่า อินโด (Indo) นี่บอกเราว่าเกี่ยวข้องกับคนอินเดีย
ส่วน ยูโรเปียน (European) นี่ก็เกี่ยวกับคนยุโรป
แล้วแขก (อินเดีย) กับฝรั่ง (ยุโรป) มาเกี่ยวกันได้ยังไง...หนูอาจสงสัย?
เรื่องนี้พ่อขอเท้าความไปยังชนชาติที่ยิ่งใหญ่ชนชาติหนึ่ง คือ พวกอารยัน (Aryan) เมื่อหลายพันปีก่อน
เล่าแบบย่อที่สุด ก็คือ พวกอารยันนี้เดิมทีอยู่ในเอเชียแถวๆ ตอนกลาง ต่อมาแตกลูกแตกหลาน แยกย้ายกันออกไปหลายสาย
- สายหนึ่งมาทางตอนเหนือของอินเดีย กลายเป็นแขกขาว เป็นต้นกำเนิดของภาษาสันสกฤต (และบาลี)
- สายหนึ่งไปทางเปอร์เซีย กลายเป็นพวกอิหร่านในปัจจุบัน (เรื่องนี้มีตำนานที่เทียบเคียงได้กับคัมภีร์พระเวทของอินเดียด้วย)
- อีกสายหนึ่งขึ้นเหนือไปทางยุโรป กลายเป็นฝรั่งยุโรป ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของภาษาต่างๆ ของยุโรปจำนวนมาก
นี่ไงที่ทำให้คำศัพท์ในภาษาอังกฤษ (และภาษายุโรปจำนวนมาก เช่น ภาษาเยอรมัน) มีเค้าเหมือนภาษาไทย (เฉพาะในส่วนที่รับมาจากภาษาสันสกฤต) อีกที
โลกทั้งผองล้วนพี่น้องกัน...นะลูก ;-)
ปล. เรื่องการแยกย้ายออกไปของพวกอารยันนั้น จริงๆ แล้วซับซ้อนกว่านี้มากนัก พ่อเล่าแบบนี้จะได้จำง่ายๆ เอาไว้ถ้าลูกสนใจ พ่อจะหาหนังสือให้อ่าน (เอง)
คำหลัก: อินโด-ยูโรเปียน ภาษา
โดย ดร. บัญชา ธนบุญสมบัติ บล็อก (สมุด) เขียนไว้..ให้ลูกอ่าน
ลิงค์ที่อยู่ถาวร ข้อคิดเห็น (1) สร้าง: พ. 07 มี.ค. 2550 @ 10:55 แก้ไข: จ. 02 เม.ย. 2550 @ 10:09
ดร. บัญชา ธนบุญสมบัติ
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
1 comment:
ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆครับ
Post a Comment